วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

รักที่สุดคือในหลวง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระราชกรณียกิจ พระราชนิพนธ์ และผลงานอื่น

ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี

ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถในศิลปะแขนงต่าง ๆ หลายแขนง จึงทรงได้รับการยกย่องให้เป็นองค์อัครศิลปินแห่งชาติและบิดาแห่งการดนตรี[71] พระองค์ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการฝึกเขียนภาพ และมีพระปรีชาสามารถในเรื่องการถ่ายภาพ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนทรงมีพระปรีชาสามารถปั้นพระพุทธรูปพระสมเด็จจิตรลดาด้วยพระองค์เอง
งานทางด้านวรรณศิลป์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเชี่ยวชาญในภาษาหลากหลายภาษา ทรงพระราชนิพนธ์บทความ แปลหนังสือ เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระมหาชนก และพระมหาชนก ฉบับการ์ตูน เรื่อง ทองแดง เป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง เป็นต้น[72]

ด้านการพัฒนาชนบท

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทุกหนแห่งไม่ว่าดินแดนแห่งนั้นจะทุรกันดารเพียงใด ไม่ว่าใกล้ไกลแค่ไหน พระองค์จัดทำโครงการพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริควบคู่ไปในทุกๆ ด้าน ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่ง พระองค์มีจุดประสงค์เดียวคือ เพื่อขจัดความทุกข์ยากของชาวชนบท และสนับสนุนส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งแก้ปัญหาสังคมเมืองให้ดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากโครงการในพระราชดำริหลายโครงการที่เกิดขึ้นจากความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจะเป็นโครงการเกี่ยวกับปรับปรุงถนนหนทาง การก่อสร้างถนนเพื่อการ สัญจรไปมาได้สะดวกและทั่วถึง การคมนาคมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ สำคัญของการนำความเจริญไปสู่ชนบท การสื่อสาร ติดต่อที่ดียังผล สำคัญทำให้เศรษฐกิจของราษฎรในพื้นที่ดีขึ้น ราษฎรก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในการพัฒนาชนบทนั้น การคมนาคม เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่จะมองข้ามไปเสียมิได้ เพราะเป็นเสมือนประตูเชื่อม ระหว่างในเมือง และชนบท ดังนั้น การที่จะเริ่มโครงการพัฒนาใดๆ นั้นจะต้องเริ่มจากการปรับปรุง และการก่อสร้างถนนหนทางเป็นการเปิดประตูนำความเจริญเข้าไปสู่พื้นที่

ด้านการเกษตรและชลประทาน


เขื่อนภูมิพล
ในด้านการเกษตร จะทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีราคาถูก ใช้เทคโนโลยีง่าย ไม่สลับซับซ้อน เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ นอกจากนี้ ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ หรือความแปรปรวนทางการตลาด แต่เกษตรกรควรจะมีรายได้จากด้านอื่นนอกเหนือไปจากการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง
การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะเกษตรกรจะสามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ และไม่เพียงพอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทอื่น

ด้านการแพทย์

โครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้กับประชาชนในระยะแรกๆ ล้วนแต่เป็นโครงการด้านสาธารณสุข เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า หากประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง จะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีไปด้วย พระองค์จึงทรงให้ความสำคัญกับงานด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรตามท้องที่ต่างๆ ทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎรผู้ป่วยไข้ได้ทันที
นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทาน ซึ่งเป็นพระราชดำริที่ให้ทันตแพทย์อาสาสมัคร ได้เดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟัน แก่เด็กนักเรียนและราษฎรที่อาศัยอยู่ในท้องที่ทุรกันดาร และห่างไกลจากแพทย์ทั่วทุกภาค โดยให้การบริการรักษาโรคฟัน โดยไม่คิดมูลค่า ทางด้านหน่วยแพทย์หลวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ประทับแรมทุกแห่งนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้มาขอรับการรักษา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทาง ไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย[73][74]
ใน พ.ศ. 2554 ทางองค์กรแพทย์ศัลยศาสตร์จากทั่วโลก ต่างพร้อมใจกันถวายใบประกาศเกียรติคุณ เกียรติบัตรสมาชิกกิตติมศักดิ์ และเหรียญสดุดี จากคุณูปการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่พระองค์ทรงอุทิศเพื่อพสกนิกรชาวไทยตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ทรงครองราชย์[75]

ด้านการศึกษา

นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อสนับสนุนทางด้านคัดเลือกบัณฑิตในสาขาวิชาต่างๆ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อจะได้ให้บัณฑิตเหล่านั้นนำความรู้ที่ได้ไปศึกษาวิจัยนำผลงานที่ได้กลับมาพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยพระองค์ออกทุนให้ตลอดจนดูแลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในต่างประเทศนั้นๆ อีกด้วย[76]
ส่วนในประเทศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดการบริหารทางการศึกษา แบบให้เปล่าตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในลักษณะทั้งอยู่ประจำและไปกลับ แบ่งเป็น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 26 โรงเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จำนวน 14 โรงเรียน[76]
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ทรงครองราชย์เป็นประมุขแห่งราชอาณาจักรไทย โดยสามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้:

ด้านการกีฬา

เรือใบเป็นกีฬาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเป็นพิเศษ พระองค์ทรงเป็นตัวแทนของประเทศไทยลงแข่งเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยทรงเข้าค่ายฝึกซ้อมตามโปรแกรมการฝึกซ้อม และทรงได้รับเบี้ยเลี้ยงในฐานะนักกีฬา เช่นเดียวกับนักกีฬาคนอื่น ๆ ในที่สุด ด้วยพระปรีชาสามารถ พระองค์ทรงชนะเลิศเหรียญทอง และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510[77] ท่ามกลางความปลื้มปีติของพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ และเป็นที่ประจักษ์แก่ชนทั่วโลก ทำให้พระอัจฉริยภาพทางกีฬาเรือใบของพระองค์ที่ยอมรับกันทั่วโลก พระองค์ยังได้ทรงออกแบบและประดิษฐ์เรือใบยามว่างออกมาหลายรุ่น พระองค์พระราชทานนามเรือใบประเภทม็อธ (Moth) ที่ทรงสร้างขึ้นว่า เรือใบมด เรือใบซูเปอร์มด และ เรือใบไมโครมด ถึงแม้ว่าเรือใบลำสุดท้ายที่พระองค์ทรงต่อคือ เรือโม้ค (Moke) เมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 เรือใบซูเปอร์มดยังถูกใช้แข่งขันในระดับนานาชาติที่จัดในประเทศไทยหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายคือเมื่อ พ.ศ. 2528 ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13[78][79]

ด้านดนตรี

งานทางด้านดนตรี พระองค์ทรงรอบรู้เรื่องดนตรีเป็นอย่างดีและทรงดนตรีได้หลายชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คราริเน็ต ทรัมเป็ต กีตาร์ และเปียโน ทรงโปรดดนตรีแจ๊สเป็นอย่างมาก และพระองค์ได้ประพันธ์เพลงที่มีความหมายและไพเราะหลายเพลงด้วยกัน เช่น เพลงพระราชนิพันธ์แสงเทียน เป็นเพลงแรก สายฝน ยามเย็น ใกล้รุ่ง ลมหนาว ยิ้มสู้ ค่ำแล้ว ไกลกังวล ความฝันอันสูงสุด และเราสู้ หรือจะเป็นพรปีใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวไทย เป็นต้น[80


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี